ภายหลังจากที่ “พระครูกมลวรการ” ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2552 หรือกว่า 15 ปี ที่ผ่านมา สิริอายุขณะนั้น 82 ปี 51 พรรษา แต่ในช่วงค่ำของวันที่ 4 ส.ค.2552 ได้มีการเคลื่อนย้ายร่างของท่านขึ้นสู่เมรุวัดกมลศรีเพื่อทำการเผาร่าง โดยมีการราดน้ำมันเชื้อเพลิงลงในโลงศพ และต่อด้วยการจุดไฟ จนเพลิงลุกไหม้ท่วมโลงศพเป็นระยะเวลากว่า 10 นาที แต่ปรากฏว่าเพลิงที่ลุกไหม้อยู่นั้นกลับดับลงสนิทอย่างไร้สาเหตุ จนมีการเข้าไปตรวจสอบดูปรากฏว่าสรีระสังขารของท่านกลับไม่ถูกไฟไหม้แม้แต่นิดเดียว มีเพียงแค่ผ้าแพรที่ใช้คลุมร่างถูกเพลิงไหม้เพียงแค่นิดน้อยเท่านั้น จนความความประหลาดใจ และความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชน ชาวบ้าน และชาว จ.ตรัง เป็นอย่างมาก โดยในวันนี้ (28 มิ.ย.) ช่วงเช้าได้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 15 รูป ก่อนจะเข้าสู่การเปลี่ยนจีวรร่างของท่านที่ถูกบรรจุในลักษณะสวมแว่นตา ศีรษะนอนหนุนหมอนราบไว้ในโลงแก้ว และมีย่าม ไม้เท้า ร่วม ถูกใส่ไว้ในโลงแก้วอีกด้วย ก่อนจะมีการยกเคลื่อนร่างของท่านออกมาเปลี่ยนจีจร จากจีวรเก่าเป็นจีวรใหม่ โดยสภาพร่างของท่านปัจจุบันนี้ปรากฏเป็นสีเหลืองทองอร่าม ใบหน้ายังคงเค้าโครงไม่แตกต่างไปจากเดิม เนื้อหนังไม่เน่าไม่เปื่อย แต่หดแห้งไปตามกาลเวลา ดวงตา ฟัน เล็บมือเล็บเท้ายังคงอยู่ในสภาพเดิมแม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 15 ปี
นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายก อบต.กะลาเส และยังเป็นศิษยานุศิษย์ กล่าวว่า “หลวงปู่เงื่อม อังสุกาโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ปฎิบัติตามพระธรรมวินัยมาเสมอ จนกระทั่งถึงมรณภาพ โดยในวันประชุมเพลิงของท่าน ศิษยานุศิษย์ได้ตั้งจิตอธิฐาน ปรากฏว่าได้เกิดอภินิหารไฟไม่สามารถไหม้โลงและร่างของท่านได้ ซึ่งไหม้แค่เพียงผ้าแพรที่ใช้คลุมร่างเท่านั้น แม้ไฟจะไหม้ผ้าแพรคลุมร่าง แต่กลับไม่ระแคะระคายมาถึงจีวรและสบงแม้แต่น้อย โดยเมื่อไฟได้ไหม้มาจนถึงสายสะเอว หรือรัดประคดของท่านไฟก็ได้ดับลงอย่างน่าประหลาดใจ ทำให้ทุกคนต่างกล่าวขานกันว่าท่านไฟเผาไม่ไหม้ อาจจะมาจากที่ท่านปฎิบัติธรรมวินัย และเคร่งครัดในศีลด้วยดีเสมอมา จนกลายเป็นที่สักการบูชาของผู้คนทั้ง จ.ตรัง ซึ่งถือว่าเป็นพระเกจิชื่อดังที่สร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ให้กับชาว จ.ตรัง
โดยบุคลิกนิสัยส่วนตัวของท่านขณะมีชีวิตอยู่ พูดน้อย ยิ้มมาก หากท่านมีกิจนิมนต์ แต่รถมารับช้า เมื่อใกล้จะถึงเวลา ท่านจะเดินไปก่อนล่วงหน้า แม้ระยะทางจะกว่า 20 กิโลเมตรก็ตาม ส่วนกิจวัตรของท่านนั้นฉันข้าวเพียงแค่มื้อเดียวต่อวัน และการฉันข้าวเท่าที่สังเกตท่านจะไม่รับรู้ในรูปของรส กลิ่นของอาหาร เพราะท่านจะตักกับข้าวทุกอย่างลงไปรวมกัน เช่นน้ำพริก แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด ผัดต่างๆ ผสมกันลงไปในจานเดียวและคนทุกอย่างให้เข้ากัน และนั่งพินิจพิเคราะห์ข้าวทุกคำก่อนที่จะฉันลงไป เนื่องจากตนใกล้ชิดและติดตามท่านจึงเห็นเช่นนี้มาโดยตลอด โดยงานนี้ถือเป็นงานประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นไปแล้ว หลังจากนี้ตนจะนำเข้าสู่สภาวัฒนธรรมเพื่อนำเข้าเป็นงานประจำปี เพื่อเฉลิมฉลองและสักการบูชาร่างของท่าน ซึ่งในทุกๆปีศิษยานุศิษย์ของท่านจะมาทำบุญรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ถือเป็นสิ่งล้ำเลิศของศิษยานุศิษย์ ส่วนการเปลี่ยนจีวรนั้นเปลี่ยนมาโดยตลอด แต่หลังจากนี้หากเปลี่ยนบ่อยทุกปีร่างของท่านจะมีการชำรุดทรุดโทรมลงได้ แม้ชื่อนามของท่านยังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่ แต่สรีระสังขารเราต้องยอมรับว่าเป็นวัตถุลงแล้วซึ่งต้องยอมรับตามหลักธรรมชาติ จึงต้องหารือกับพระภิกษุและคณะกรรมการวัดว่ากี่ปีอีกถึงจะเปลี่ยนครั้ง แต่การจัดงานรำลึกยังคงจัดต่อเนื่องตลอดในทุกๆปี พระใบฎีกาชำนาญ เจ้าอาวาสวัดกมลศรี (ปัจจุบัน) กล่าวว่าอาตมามาเป็นเจ้าอาวาสต่อจากท่าน โดยจะมีการเปลี่ยนจีวรวันที่ 28 มิ.ย. ก่อนวันคล้ายวันมรณะของท่านคือวันที่ 29 มิ.ย. จำนวน 1 วัน ท่านเป็นพระที่ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบ บูรณะสถานที่ ช่วยเหลือผู้คนมากมาย ซึ่งอาตมาได้สานต่อความตั้งใจของท่านที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ปฎิบัติธรรม และสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยประวัติของท่าน ซึ่งพิธีหลังจากเปลี่ยนจีวรแล้วนั้น ได้มีการนิมนต์พระขึ้นไปเปลี่ยนผ้าเหนือเจดีย์ และเจริญพระพุทธมนต์ อย่างไรก็ตามชาวบ้านต่างไม่พลาดที่จะส่องเลขเด็ด รวมทั้งต่างมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่กันถึงภายในวัด ซึ่งขายดีเป็นอย่างมาก โดยพ่อค้าบอกว่า เลขที่คนซื้อและเกี่ยวข้องกับงานนี้คือ เลขประทัด คือเลข 88 เลขฤกษ์ยกสรีระสังขารเปลี่ยนจีวร คือ 839