ตร. ยัน บอสพอล และกลุ่มบอสรวม 6 คน ตกเป็นผู้ต้องหาเตรียมดำเนินการตามมาตรา 134

ความคืบหน้าคดี “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. เปิดเผยว่า ภาพรวมของวันนี้มีผู้มาแจ้งความทั้งหมด 240 ราย ที่เดินทางมายัง บช.ก. ยอดรวมในช่วง 4 วันที่ผ่านมา ทั้งสิ้น 740 ราย คาดว่าในวันนี้น่าจะมีถึงประมาณ 800 ราย ความเสียหายประมาณ 266 ล้านบาท

ADVERTISEMENT

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในกลุ่มของผู้ต้องหามีกี่คนที่มีการแจ้งความไว้ รอง ผบช.ก. ระบุว่า ในกลุ่มของผู้บริหาร (บอสพอล) และดารานักแสดง ซึ่งพนักงานสอบสวนเตรียมดำเนินการตามมาตรา 134

เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตอนนี้เข้าข่ายข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พ.ร.บ.แชร์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ รอง ผบช.ก. ระบุว่า ขณะนี้พนักงานสืบสวนสอบสวนกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อความรอบคอบและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายวันเดียวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าคดีนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล เจ้าของบริษัทดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ได้รับรายงานจาก พล.ต.ท. อัครเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่า หลังจากเปิดศูนย์รับแจ้งความ รวมถึงการบริการให้ความสะดวกในการแจ้งความทั่วประเทศ ได้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความตลอด 3 วัน พนักงานสืบสวนสอบสวนได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐานคืบหน้าไปพอสมควร

ในส่วนความคืบหน้าคดี นั้นได้สั่งการให้ พล.ต.ท.อัครเดช มอบหมายให้ พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. เท่านั้นเป็นผู้แถลงให้สื่อมวลชนทราบเพื่อจะได้นำเสนอข่าวให้พี่น้องประชาชนทราบ

ผบ.ตร. กล่าวว่า ได้กำชับนโยบายไปกับคณะพนักงานสอบสวน โดยได้ปลูกฝังความคิดกับตำรวจทุกนายที่มีหน้าที่ในคดีนี้ ว่า “เราต้องทำให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่พร้อมจะยืนเคียงข้างประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกรณี แม้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาจะแก้ต่างอย่างไร ก็ถือเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย และการนำทนายความมาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ประชาชนที่ต้องสูญเสียเงินไปเขาไม่มีทนาย แต่เขาต้องมาแจ้งความมีความทุกข์ร้องทุกข์ด้วยตนเอง ซึ่งบรรดาประชาชนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องหาเงินเลี้ยงดำรงชีพตัวเองโดยไม่คาดคิดว่าเงินดังกล่าวจะต้องสูญเสียไป ตำรวจต้องยืนยันให้ได้ว่า ในความเป็นตำรวจ เราจะเป็นที่พึ่งที่ต้องดำรงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม และตำรวจต้องสวมบทบาทเป็นทนาย ให้แก่ประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย ที่จะว่าความให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนด้วย

ผบ.ตร. กล่าวว่า ในส่วนผู้ถูกกล่าวหาเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะมีทนายความ ในการรับทราบข้อกล่าวหาหรือในการสอบสวน รวมทั้งในการพิจารณาคดีของศาล ตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ส่วนสิทธิ์ของผู้เสียหายก็จะต้องมีตำรวจคอยเคียงข้าง เพื่อช่วยเหลือเพื่ออำนวยความยุติธรรม ในฐานะเป็นข้าราชการตำรวจที่ต้องเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนและเป็นเสมือนทนายความให้ประชาชน จนกว่า ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษตามกฎหมายหรือจนกว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดใช้เยียวยาตามสมควร .-ไนน์เอ็นเตอร์เทน