เฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน V1 ได้มีการรายงานว่า เช้านี้ วันที่ 15 ม.ค. 68 อดีตพนักงานยานภัณฑ์ แถลงหน้าโรงงาน “ผิดหวัง” กระทรวงแรงงาน-รัฐบาล ทำได้แค่เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง-ประกันว่างงาน ไร้วี่แววงบกลาง-ค่าชดเชยจากนายจ้าง
แถลงการณ์อดีตพนักงานบริษัทยานภัณฑ์
สืบเนื่องจากวันที่ 9 มกราคม 2568 กลุ่มอดีตพนักงานบริษัทยานภัณฑ์ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้
คนงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายโดยเสนอให้มีการอนุมัติงบกลางเพื่อมาช่วยเหลือคนงานก่อน ซึ่งในวันดังกล่าวนายกรัฐมนตรีไม่ได้มารับหนังสือ แต่ได้ส่งที่ปรึกษามารับ และเราก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เราจึงขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเวลาต่อมานายอารี ไกรนรา เลขานุการฯ ก็ได้มาพบกับกลุ่มพนักงานบริษัทยานภัณฑ์ที่ชุมนุมบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลและได้ให้คำมั่นกับคนงานว่าจะดำเนินการนำประเด็นเรื่องงบกลางเข้าในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ต่อมา คือวันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 และจะเร่งรัดให้คนงานได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยเร็ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ได้มีการประชุมที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนงานบริษัทยานภัณฑ์ โดยมีนายอารี ไกรนราเข้าร่วมประชุมด้วย และได้สรุปผลการประชุมให้ลูกจ้างรอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและเงินว่างงานจากกองทุนประกันสังคม รวมถึงจะติดตามเร่งรัดการดำเนินคดีอาญา ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงการประชุมคณะรัฐมนตรีจากวันที่ 14 มกราคม 2568 มาเป็นวันที่ 13 มกราคม 2568 ซึ่งการประชุมในวันที่ 13 มกราคม 2568 ก็ยังไม่ได้นำเรื่องงบกลางเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
จากแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน พวกเราอดีตพนักงานบริษัทยานภัณฑ์ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ถูกนายจ้างไม่จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิของเราที่พวกเราต้องได้อยู่แล้ว เราขอแถลงสื่อสารถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกครั้งว่าพวกเราต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้กับพวกเราตามข้อเรียกร้องที่เราได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ดังนี้
1. ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินโครงการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือพนักงานและครอบครัวโดยอนุมัติเงินจากงบประมาณกลางไปพลางก่อน
2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งบังคับและติดตามให้บริษัทยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจ่ายเงินเพื่อทดแทนให้กับเงินงบประมาณกลางที่รัฐได้ดำเนินการจ่ายไปก่อน
พวกเราคนงานบริษัทยานภัณฑ์รู้สึกผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาของแรงงานซึ่งต้องสามารถหาแนวทางช่วยเหลือคนงานได้มากกว่าแค่การให้พวกเรารอกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและเงินประกันสังคม ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายที่พวกเราต้องได้อยู่แล้ว
การทำงานของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาที่บริษัทปิดกิจการแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับลูกจ้าง ไม่เพียงแต่กลุ่มคนงานยานภัณฑ์ ยังมีพี่น้องแรงงานบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนงานบริษัทยานภัณฑ์ แต่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีหน้าที่หลักในการแก้ไขปัญหากลับไม่มีนโยบายชัดเจน ไม่ได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงาน
สุดท้ายนี้ ขอเน้นย้ำว่าพวกเราได้รับผลกระทบจากภาระหนี้สิน ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของบุตร ค่าอาหารในการดำรงชีวิตประจำวัน และสิ่งที่เราต้องการก็คือค่าชดเชยที่จ่ายครบตามกฎหมาย ปัจจุบันอดีตพนักงานยานภัณฑ์ต้องนอนหน้าโรงงานของตัวเองเพราะความล้มเหลวของกระทรวงแรงงานในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ จึงต้องรับผิดชอบในฐานะรัฐมนตรี และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงต้องรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรี
ด้วยสมานฉันท์
อดีตพนักงานบริษัทยานภัณฑ์
15 มกราคม 2568, ณ บริเวณที่ชุมนุมปักหลักหน้าบริษัทยานภัณฑ์ โรงงาน 1 สมุทรปราการ
Beta feature