รสชาติจากอดีต เชฟตุรกีเสิร์ฟ “ขนมปัง” คืนชีพสูตร 8 พันปีจากยุคหินใหม่
อังการา, 24 ม.ค. (ซินหัว) — อูลาส เตเคอร์กายา เชฟชาวตุรกี (ทูร์เคีย) ผู้หลงใหลในโบราณคดีด้านอาหาร รื้อฟื้นสูตรการทำขนมปังที่ได้แรงบันดาลใจจากซากขนมปังอายุ 8,600 ปีจากยุคหินใหม่ ซึ่งค้นพบระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีในแหล่งตั้งถิ่นฐานโบราณทางตอนใต้-ตอนกลางของตุรกี
เตเคอร์กายารังสรรค์ก้อนขนมปังนี้ขึ้นมาใหม่ด้วยส่วนผสมแบบเดียวกับผู้คนในยุคหินใหม่เมื่อหลายพันปีก่อน ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองซาทาลฮือยึค (Catalhoyuk) หนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองคอนยาของตุรกี
เมื่อเดือนมีนาคม 2024 ทีมนักโบราณคดีประกาศการค้นพบโครงสร้างลักษณะคล้ายเตาอบขนาดใหญ่ที่ใช้ร่วมกันในชุมชน ซึ่งภายในพบเศษอาหาร รวมถึงวัตถุที่มีลักษณะเป็นฟองน้ำขนาดเท่าฝ่ามือที่ไหม้เกรียมที่เชื่อว่าเป็นขนมปัง โดยการวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเนคเมตติน เอร์บาคัน (BITAM) ยืนยันว่าองค์ประกอบของขนมปังที่มีการหมักนี้ประกอบด้วยถั่วลันเตา ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี
ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอนาโดลูทางตอนกลางของตุรกีระบุว่าการค้นพบนี้เป็นขนมปังที่มีอายุราว 8,600 ปี ซึ่งการค้นพบที่น่าสนใจนี้จุดประกายแรงบันดาลใจให้เตเคอร์กายาชุบชีวิตสูตรขนมปังที่สูญหายไปนี้ขึ้นมาโดยใช้ธัญพืช เมล็ดพืช และสารสกัดจากดอกไม้ที่พบและปลูกในภูมิภาคนี้ และสามารถปั้นแป้งเป็นก้อนกลมพร้อมอบบนกองฟืนที่พิพิธภัณฑ์เมืองและวัฒนธรรมชีวิตเมรามในเมืองคอนยาได้สำเร็จเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากพยายามอยู่หลายครั้ง
เตเคอร์กายาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าครั้งแรกที่ลองทำ ตัวขนมปังมีรสชาติขมและแข็งมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาไม่ได้ทำตามตำรับโบราณอย่างสมบูรณ์ แต่หลังจากทดลองอยู่นานเกือบหนึ่งปี ในที่สุดเตเคอร์กายาสามารถทำขนมปังแบบเดียวกับที่คนโบราณในเมืองซาทาลฮือยึคเคยกินได้สำเร็จ
ทั้งนี้ เตเคอร์กายาเสริมว่าคนในยุคหินใหม่มักกินขนมปังเป็นมื้อหลักพร้อมกับของเคียงเพียงเล็กน้อย โดยในโลกยุคโบราณ ขนมปังถือเป็นอาหารหลักและให้พลังงานราวร้อยละ 50-70 ของความต้องการแคลอรี่ต่อวัน ทว่าหลายฝ่ายยังคงมีคำถามเกี่ยวกับนิยามของขนมปังและใครที่คิดค้นมันขึ้นมาเป็นครั้งแรก
การคิดค้นขนมปังเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ไปสู่การทำเกษตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดขึ้นในยุคหินใหม่ และเมืองซาทาลฮือยึคที่ถูกค้นพบในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ถูกจัดเป็นตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเกษตรกรรม โดยเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนกว่า 8,000 คนในยุคหินใหม่ เมื่อราว 10,000-2,000 ปีก่อนคริสตศักราช
นอกจากบทบาทเชฟแล้ว เตเคอร์กายายังเป็นผู้เขียนหนังสือ “ซาทาลฮือยึค : วัฒนธรรมอาหารอายุ 10,000 ปี” เขาใช้เวลากว่า 7 ปีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการค้นพบเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารในยุคดังกล่าว จนนำสู่การทดลองรังสรรค์อาหารโบราณหลายชนิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งเตเคอร์กายาบอกเล่าว่าตอนนี้ได้เตรียมอาหารจากยุคหินใหม่ถึง 35 เมนู เช่น เม่นแคระตุ๋นและเมนูจากสัตว์เลื้อยคลาน
Beta feature
Beta feature
Beta feature
Beta feature
Beta feature
Beta feature
Beta feature
Beta feature