ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระดมกวาดล้างต่อเนื่อง ตรวจสอบสินค้าปลอมกลางห้างดัง ยึดสินค้าปลอมแบรนด์ดังจำนวนมาก
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์, พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร, พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล, ว่าที่ พ.ต.อ.ภูวเดช จุลกะเสวี ผกก.1 บก.ปอศ., พ.ต.ท.ชัยพร เฮงจิตตระกูล, พ.ต.ท.ศักดิ์สะท้าน เปรื่องชนะ, พ.ต.ท.วิวัฒนชัย คลื่นแก้ว, พ.ต.ท.อัครพล เอี่ยมสำอางค์ รอง ผกก.1 บก.ปอศ.

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ., เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนผู้ปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของแบรนด์สินค้า
ได้ร่วมกันตรวจค้น ในพื้นที่ ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จับกุมเนินคดีผู้ต้องหา จำนวน 15 ราย ตรวจยึดของกลาง จำนวน 5 คดี

ดำเนินคดีในฐานความผิด “มีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ปลอม/เลียน เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และหรือ เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือ ทำให้ปรากฏชื่อสินค้าเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น” ตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 272
พร้อมตรวจยึดของกลาง สินค้าประเภทสินค้าแฟชั่นของแบรนด์เนมที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น กระเป๋า, รองเท้า, หมวก, เครื่องประดับ หลายรายการ รวม 3,079 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 23 ล้านบาท
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 สืบเนื่องจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการหารือและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและปราบปรามแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญาในพื้นที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ โดยเน้นพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปราบปรามให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และลดปัญหาการละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญา

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มผู้ลักลอบจำหน่ายสินค้าปลอม ในกรุงเทพฯ โดยสืบทราบว่าในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งมีการจำหน่ายสินค้าปลอมจำนวนมาก ให้แก่คนไทยและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ได้มีการสืบสวนหาแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จนนำไปสู่การจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางจำนวนมาก ที่เป็นสินค้าประเภทสินค้าแฟชั่นของแบรนด์เนมที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น กระเป๋า, รองเท้า, หมวก, เครื่องประดับ หลายรายการ รวม 3,079 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 23 ล้านบาท โดยการเข้าตรวจค้น จับกุม ได้มีเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนผู้ปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ของแบรนด์สินค้า มาร่วมตรวจค้น และยืนยันสินค้าว่า เป็นสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอศ. จึงได้จับกุมตัว ผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปอศ. ได้มีผลการปฏิบัติ ซึ่งมีการจับกุม ผู้ต้องหา ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.สิทธิบัตร ตั้งแต่ห้วงเดือน มีนาคม –พฤษภาคม 2568 รวมกว่า 114 คดี จับกุมผู้ต้องหา 117 คน ตรวจยึดของกลางรวม 767,795 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย รวม 240 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการตรวจค้นจับกุมโกดังเก็บสินค้า ขนาดใหญ่กว่า 9 โกดัง
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กับผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดเพื่อสกัดกั้นเส้นทางการเงิน ของขบวนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปทั่วประเทศเพื่อยกระดับ มาตรการป้องกันและปราบปรามให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ฝากเตือนภัย ปรากฏการณ์การระบาดของสินค้าปลอมในสังคมไทย กำลังกลายเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าของแบรนด์เนมปลอม ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่เครือข่ายผู้อยู่เบื้องหลังส่วนใหญ่มีลักษณะ เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แทรกซึมผ่านระบบเศรษฐกิจ และกฎหมายไทยปฏิบัติการปราบปราม ในครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับความมั่นคงของประเทศ ควบคู่กับการปกป้องสุขภาพของประชาชน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงกฎหมาย การเฝ้าระวัง และการสร้างความรู้เท่าทันแก่ผู้บริโภค อย่างยั่งยืน
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ยืนยันว่า จะดำเนินการกวาดล้างสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ในลักษณะเดียวกัน สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง