อธิบดีกรมราชทัณฑ์เผยขั้นตอนออกหมายปล่อย – ใบบริสุทธิ์ “ทักษิณ ชินวัตร” หลังพ้นโทษทันที ต้องทำเรื่องให้แล้วเสร็จใน 120 วัน
สืบเนื่องจากประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 โดยหนึ่งในรายชื่อคือ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับอภัยโทษ พ้นโทษทันที ไม่ต้องรอถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 ฉบับนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงขั้นตอนการออกใบบริสุทธิ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีกำหนดพ้นโทษทันทีว่า ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567
มีผลทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นโทษทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 ส.ค.67 เนื่องจาก เป็นผู้ถูกคุมประพฤติที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 2567
โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการแล้วจะต้องทำเรื่องเพื่อออกหมายปล่อย และ ออกใบบริสุทธิ์ ให้เสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งตามปกติแล้วในกรณีของผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ มีรายชื่อได้รับอภัยโทษ เมื่อมีการประกาศทางพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 2567 ลำดับต่อไป
ทาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่ง ตุลาการ และ อัยการ จะพิจารณากลั่นกรองรายชื่อ ว่าผู้ต้องขังคนไหนเข้าข่ายได้รับการปล่อยตัว ลดโทษตามสัดส่วน ตามที่กำหนด และนำเสนอต่อศาลแต่ละท้องที่เพื่อให้ออกหมายปล่อยและใบบริสุทธิ์
นายสหการณ์ ระบุต่อไปว่าสำหรับกรณีของนายทักษิณ ทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ตุลาการและอัยการ จะพิจารณาก่อนส่งเรื่องเสนอให้ศาลอาญาธนบุรี ออกหมายปล่อย รวมถึงใบบริสุทธิ์ให้ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินเรื่องนั้นเบื้องต้นไม่สามารถกำหนดได้เพราะเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้ต้องขัง ซึ่งมีรายชื่อทุกคนพร้อมกัน ไม่ได้มีเพียงเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามข้อแตกต่างระหว่างผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำและผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษอยู่นอกเรือนจำมีความแตกต่างหรือต้องลดขั้นตอนอย่างไรหรือไม่ นายสหการณ์ ระบุว่า ผู้ต้องขังทุกคนที่ได้รับการอภัยโทษจะต้องผ่านขั้นตอนในการพิจารณาก่อนออกหมายปล่อยและใบบริสุทธิ์เหมือนกัน