เมื่อวันที่ 22 กันยายน ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย ว่า ข้อมูลในประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดประมาณ 1.4 แสนคนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยสถิติก็ยังไม่เคยเปลี่ยน จะอยู่ในกลุ่มมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่
ส่วนโรคมะเร็งหัวใจ หรือมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ตามที่มีรายงานว่า ดาราชายไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ (นายอรรคพันธ์ นะมาตร์ หรือ อ๋อม นักแสดงชายไทย) นั้นพบได้น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นสถิติทั้งโลก หรือของประเทศไทยก็จะพบได้น้อย รวมถึงประเทศไทย เพราะโดยธรรมชาติของโรคมะเร็งจะเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ หรืออวัยวะและเกิดการกลายพันธ์ ซึ่งร่างกายจะมีกระบวนจะตรวจจับการแบ่งตัวผิดปกติของอวัยวะ หรือเซลล์นั้นอยู่ แต่หากเมื่อไหร่ที่กระบวนการตรวจจับแย่ลง หรือการซ่อมแซมเสียไปก็มีโอกาสเกิดมะเร็งได้ ในขณะที่หัวใจของคนเรานั้น เซลล์หัวใจเป็นเซลล์ที่เติบโตแล้ว ไม่ค่อยมีการแบ่งตัว แปลว่า โอกาสที่จะมีการแบ่งตัวผิดปกติมีน้อย ดังนั้นจึงไม่ค่อยเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้
ร.อ.นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า การเกิดโรคมะเร็งหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีการค้นพบพันธุกรรมบางอย่างที่สัมพันธ์กันกับการเกิดโรคนี้ แปลว่า มีความผิดปกติตั้งแต่เกิด ถึงเกิดโรคนี้ขึ้นมา แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกคน ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ก็เป็นความเสี่ยงทั่วไปที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ข้อมูลมีน้อยมากในกรณีแบบนี้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยประมาณการณ์ผู้ป่วย 5-7 คนต่อปี ช่วงอายุที่พบบ่อยๆ คือ อายุ 30 – 50 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 44 ปี และส่วนใหญ่จะพบในผู้ชาย อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 0.1 ต่อประชากร 1 ล้านคนการรักษา มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ
ส่วนการรักษาโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจนั้น คล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่ความแตกต่างกัน คือ เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญ ดังนั้นการจะผ่าตัดออกมาก็ยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจเป็นเซลล์ที่เติบโตแล้ว ไม่ค่อยแบ่งตัวแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ค่อยไวต่อยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสง เพราะยาเคมีบำบัดจะไวต่อเมื่อเซลล์มีการแบ่งตัวเร็ว ดังนั้นการรักษาจึงยากกว่า
ไม่มีข้อมูลเชื่อมวัคซีนโควิด
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจมีส่วนนำมาสู่การเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ ร.อ.นพ.สมชาย กล่าวว่า อันนี้เป็นความพยายามจะโยงวัคซีนมีว่าผลกระทบอะไรบ้าง แต่ข้อเท็จจริง 1. วัคซีนชนิด mRNA ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจริง แต่อัตราการเกิดไม่ได้เยอะมาก จะพบในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า ในไทยก็เยอะภาวะดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ก็กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ย้ำว่า คนละเรื่องกับการฉัดวัคซีน
2. ในช่วงที่ผ่านมาจะได้ยินเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแล้วเกิดภาวะ Turbo cancer หรือเกิดโรคมะเร็งตามมาจำนวนมา แต่จากการมอนิเตอร์การเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทยมาตลอดนั้น มะเร็งบางชนิดลด บางชนิดเพิ่ม แต่ค่าแฉลี่ยจะเพิ่ม 3 % ไม่เคยหลุดจากสถิตินี้ ทั้งนี้ ถ้าหากมะเร็งที่เกิดจากวัคซีนจริง ก็ควรจะเป็นมะเร็งเม็ดเลือด เพราะเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันมากกว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งหัวใจหรือมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ
สังเกตอาการ มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ
เมื่อถามว่า กรณีหัวใจเคยเกิดความผิดปกติ หรือความเสียหายแล้วทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ จะนำไปสู่การเกิดโรคอย่างอื่นหรือไม่ ร.อ.นพ.สมชาย กล่าวว่า เหมือนร่างกายเรามีแผล หากความรุนแรงไม่มาก ร่างกายมีกระบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติอยู่แล้ว ก็กลับมาปกติ แต่หากเกิดความเสียหายมาก การซ่อมแซมก็หายได้ แต่ก็จะเป็นแผลเป็น ในหัวใจก็จะมีผลกระทบต่อการนำไฟฟ้า อาจจะเกิดภาวหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีทั้งอันตรายและอันตรายหากเกิดในตำแหน่งที่มีปัญหา แต่ก็ไม่ได้เกิดมาก และ กลุ่มที่ 3 เกิดการอักเสบของหัวใจเยอะมาก จนการซ่อมแซมหัวใจไม่เหมือนเดิมก็จะมีภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น การบีบตัวของหัวใจลดลง เหนื่อยจากการที่หัวใจทำงานไม่เต็มที่ แต่ภาพรวมปัญหาที่เกิดจากวัคซีนนั้นน้อย
“วิธีการสังเกตความผิดปกติ ต้องแยกเป็นความผิดปกติของร่างกาย กับความผิดปกติของมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งอันหลังนี้เกิดน้อยอย่าเพิ่งไปคิด ดังนั้นสังเกตความผิดปกติของร่างกายดีกว่า เช่น เหนื่อยง่ายขึ้น ส่วนมากที่พบมักเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือการสูบบุหรี่ การกินอาหารไขมันสูง กิจกรรมทางกายน้อยก็จะส่งผลให้เส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งพบบ่อย หัวใจบีบตัวลดลง ให้ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ หากเจอโรคอะไรก็จะได้รักษา” ร.อ.นพ.สมชาย กล่าว