ริโก้ (Ricoh) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ และเครื่องใช้สำนักงาน ที่มีอายุมากว่า 73 ปี เปิดเผยว่า เตรียมย้ายการผลิตเครื่องพริ้นท์เตอร์ในรุ่นมัลติฟังก์ชันออกจากนครเซี่ยงไฮ้ และนครตงกวนในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มายังประเทศไทย สาเหตุจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดใหม่ภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศชัดเจนว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากประเทศจีน ที่จะถูกเก็บสูงขึ้นถึง 60% จากอัตราปัจจุบัน
ปัจจุบัน ยอดขายของสินค้าภายใต้แบรนด์ริโก้เข้าไปในตลาดสหรัฐอเมริกามีสูงถึง 20% ของยอดขายริโก้รวมทั่วโลก ริโก้มีโรงงานผลิตเครื่องพริ้นท์เตอร์ในรุ่นมัลติฟังก์ชันที่พิมพ์กระดาษขนาด A3 ซึ่งเป็นสินค้าหลักของริโก้ โดยทำการผลิตและส่งออกเข้าไปตลาดสหรัฐอเมริกา โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งในช่วงเวลานั้นอยู่ในยุคแรกของนายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45
ไม่เพียงจะย้ายการผลิตบางส่วนออกมาประเทศจีนมายังประเทศไทยเท่านั้น ริโก้จะพิจารณาใช้ฐานการผลิตในจุดอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆของอาเซียน มาสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทริโก้กับบริษัทโตชิบา เทค ด้วย
ย้อนกลับเมื่อวันที่ 12 กันยายนผ่านมา ริโก้ (Ricoh) เปิดเผยว่าเตรียมปลดพนักงานมากกว่า 2,000 คนทั่วโลก หรือคิดเป็นกว่า 3% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่ 79,544 คน ในจำนวนพนักงานมากกว่า 2000 คนดังกล่าวนั้นจะมี 50% หรือคิดเป็นพนักงานจำนวน 1,000 คนที่จะถูกปลดในประเทศญี่ปุ่น สำหรับพนักงานที่เข้าข่ายจะถูกปลดออกในครั้งนี้อยู่ที่หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำนักงาน ได้แก่ สายงานฝ่ายขาย และฝ่ายซ่อมบำรุงรักษา ริโก้จะเริ่มทยอยปลดพนักงานตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2025
สาเหตุในการตัดลดค่าใช้จ่ายโดยการปลดพนักงานในครั้งนี้เป็นผลมาจาก ริโก้ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการลดขนาดขนาด ธุรกิจเครื่องใช้สำนักงาน และหันไปเน้นรูปแบบธุรกิจ ภาคบริการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล การปลดพนักงานในครั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3800 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การประหยัดค่าใช้จ่ายดังกล่าว สามารถทำให้ริโก้มีผลกำไร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 9,000 ล้านเยน หรือกว่า 2,115 ล้านบาท ภายในปี 2026
นอกจากนี้ ตลาดเครื่องใช้สำนักงานอัตโนมัติ โดยเฉพาะเครื่องปริ๊นเตอร์ต้องเผชิญกับภาวะตลาดซบเซา และชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากนโยบายของลูกค้าประเภทองค์กรที่เน้นลดการใช้กระดาษ และนโยบายการให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงานที่สำนักงานหรือออฟฟิศและทำงานจากที่บ้าน สำหรับการจัดส่งผลิตภัณฑ์เครื่องปริ๊นเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร มีจำนวน 3.59 ล้านเครื่องในปี 2023 ผ่านไป ซึ่งตกต่ำมากถึง -26% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19