โทรศัพท์มือถือสกปรก มากกว่าที่นั่งชักโครกถึง 10 เท่า
คนส่วนใหญ่ไม่คิดอะไรมากกับการใช้โทรศัพท์มือถือในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นตอนไปทำงานตอนเช้า ขณะไปทานอาหารเย็นหรือไปพบแพทย์ แต่การวิจัยแสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์มือถือสกปรกกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดมาก และยิ่งโทรศัพท์มือถือสะสมเชื้อโรคมากเท่าไร คุณก็ยิ่งสัมผัสเชื้อโรคมากขึ้นเท่านั้น
อันที่จริงแล้ว มือของคุณเอง คือผู้ร้ายตัวฉกาจที่สุดเมื่อต้องหยิบจับสิ่งสกปรกบนโทรศัพท์ของคุณ จากผลสำรวจของ Deloitte พบว่าคนอเมริกันตรวจสอบโทรศัพท์ประมาณ 47 ครั้งต่อวัน ซึ่งเปิดโอกาสให้จุลินทรีย์แพร่กระจายจากนิ้วมือไปยังโทรศัพท์ของคุณได้
จากการศึกษาล่าสุดพบว่าโทรศัพท์มือถือของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีสำเนาของยีนแบคทีเรียมากกว่า 17,000 ชุด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ระบุว่า “โทรศัพท์มือถือมีแบคทีเรียมากกว่าที่นั่งชักโครกทั่วไปถึง 10 เท่า”
แน่นอนผิวหนังของมนุษย์นั้นปกคลุมไปด้วยจุลินทรีย์โดยธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพใดๆ และแบคทีเรียตามธรรมชาติ รวมถึงน้ำมันบนมือของคุณ จะถูกส่งต่อไปยังโทรศัพท์ของคุณทุกครั้งที่คุณตรวจสอบข้อความหรือส่งอีเมล ดังนั้น จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่พบในโทรศัพท์ไม่ใช่เชื้อโรคที่ทำให้ป่วย ตัวอย่างเช่น อาจมีเชื้อสแตฟิโลค็อกคัสอยู่ แต่โดยทั่วไปแล้ว เชื้อสแตฟิโลค็อกคัสไม่ใช่ชนิดที่ทำให้ติดเชื้อ
แต่จากการศึกษาพบว่า โทรศัพท์มือถือก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงปนเปื้อนได้ เช่น สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus), สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส สายพันธุ์ที่ ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (MRSA) และแม้แต่อีโคไล (E.coli) ขณะที่ไวรัสก็สามารถแพร่กระจายบนโทรศัพท์ได้เช่นกัน ซึ่งหากบุคคลหนึ่งป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และไอลงในโทรศัพท์มือถือก่อนจะส่งให้เพื่อน ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
วิธีง่ายๆ ในการหลีกเลี่ยงเชื้อโรคจากโทรศัพท์มือถือ
1. หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์คือในห้องน้ำ เนื่องจากอาจปนเปื้อนแบคทีเรียในอุจจาระ เช่น อีโคไล ได้
2. ทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือ โดยใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์เนื้อนุ่มเช็ดโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยขจัดเชื้อโรคได้มาก
3. สำหรับการทำความสะอาดอย่างล้ำลึก แนะนำให้ใช้น้ำ 60% และแอลกอฮอล์ถู 40% ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน จากนั้นจุ่มผ้าลงในสารละลายก่อนจะเช็ดเบา ๆ บนโทรศัพท์มือถือ ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้งต่อเดือนก็เพียงพอแล้ว (อย่าใช้น้ำยาทำความสะอาดแบบน้ำหรือแบบสเปรย์ เพราะอาจทำให้โทรศัพท์ของคุณเสียหายได้)
อ้างอิงข้อมูลจาก: Kõljalg S, Mändar R, Sõber T, Rööp T, Mändar R. High level bacterial contamination of secondary school students’ mobile phones. Germs. 2017 Jun 1;7(2):73-77. doi: 10.18683/germs.2017.1111. PMID: 28626737; PMCID: PMC5466825.
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์