สธ.ห่วงปี’68 แนวโน้ม ‘ไข้หวัดใหญ่’ พุ่ง จับตาโรคติดเชื้อ hMPV- หวัดนก ค่าฝุ่น 12 จว.ระดับแดง

สธ.ห่วงปี'68 แนวโน้ม 'ไข้หวัดใหญ่' พุ่ง จับตาโรคติดเชื้อ hMPV- หวัดนก ค่าฝุ่น 12 จว.ระดับแดง
สธ.ห่วง! ปี’68 แนวโน้ม ‘ไข้หวัดใหญ่’ พุ่ง จับตาโรคติดเชื้อ hMPV- หวัดนก ค่าฝุ่น 12 จว.ระดับแดง

วันที่ 14 ม.ค.2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค แถลง “ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัยยั่งยืน” พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรค

พญ.จุไร กล่าวว่า ในปี 2567 มีโรคหลักที่ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง ได้แก่ โควิด-19, ไข้วัดใหญ่, ไข้เลือดออก, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลัน, โรคติดต่อนำโดยแมลง, โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร และโรคจากต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับโรคโควิด-19 ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 769,200 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่มอายุ 30-39 ปี และกลุ่มอายุ 20-29 ปี ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตสะสม 222 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป, 50-59 ปี และ 30-39 ปี ในไทยพบสายพันธุ์ JN.1 มากที่สุด ส่วนในปี 2568 สถานการณ์โรคโควิด-19 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยพบผู้ป่วย จำนวน 3,493 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต

โรคไข้หวัดใหญ่ ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 668,027 ราย สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กเล็ก และวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 51 ราย เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป การระบาดส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจํา วัด ศูนย์ฝึกอบรมฯ และค่ายทหาร ในปี 2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสูงกว่ามาตรฐานย้อนหลัง โดยมีผู้ป่วยสะสม 14,537 ราย และไม่พบผู้เสียชีวิต

โรคไข้เลือดออก ในปี 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงจากปี 2566 ประมาณ 0.7 เท่า โดยมีผู้ป่วย 105,250 ราย ผู้เสียชีวิต 114 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน และอัตราป่วยตายสูงในกลุ่มวัยทำงาน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 ผู้ป่วยจะลดลง ประมาณ 76,000-77,000 ราย เสียชีวิต 70-80 ราย ซึ่งหากประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย (House Index: HI) ต่ำกว่าร้อยละ 5 จะสามารถลดการป่วยและการป่วยตายได้ถึง 3 เท่า และยังคงเน้นย้ำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยป่วย ไข้เลือดออก และแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV ในปี 2567 ผู้ป่วยสะสม 8,218 ราย พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเริ่มพบมากขึ้นในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป จากการเฝ้าระวังเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดอักเสบจากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – วันที่ 31 ธันวาคม 2567 พบเชื้อ RSV มากในช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน โดยสายพันธุ์หลักที่พบในปี 2566 เป็นสายพันธุ์ RSV A และในปี 2567 เป็นสายพันธุ์ RSV B

โรคไข้หูดับ ในประเทศไทยจากรายงาน 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2562 – 2566) พบจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ย 461 ราย และผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 22 ราย ปี 2567 พบจำนวนผู้ป่วย 956 ราย และผู้เสียชีวิต 59 ราย วันที่ 1 มกราคม 2568 – ปัจจุบัน พบผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย และอาการรุนแรง 1 ราย ใน จ.บุรีรัมย์ ผู้เสียชีวิตพบมากในกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบ ภูมิคุ้มกัน ผู้เสียชีวิตมีประวัติติดสุราร่วมด้วย ร้อยละ 40

พญ.จุไร กล่าวว่า ในช่วงหน้าหนาวนี้ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น คือ ฝุ่นละออง หรือฝุ่น PM 2.5 โดยสถานการณ์ของ PM 2.5 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – วันที่ 8 มกราคม 2568 ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง หรือ มากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สระบุรี นนทบุรี นครพนม พิษณุโลก เพชรบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี หนองคาย นครปฐม และ ปทุมธานี

ด้าน นพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ โรคติดเชื้อฮิวแมน เมดานิวโมไวรัส หรือ hMPV เป็นไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่มีมานานแล้วไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 สามารถพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดทั้งปี มักพบผู้ป่วยในช่วงฤดูฝนและเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

จากข้อมูลที่เผยแพร่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน พบการติดเชื้อทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดทางตอนเหนือของจีน โดยตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล, ไรโนไวรัส, RSV และ hMPV ในส่วนของการเฝ้าระวังการติดเชื้อทางเดินหายใจ พบว่า ปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยลักษณะของการระบาดเป็นรูปแบบพบได้ตามปกติของฤดูกาล

“สถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ผลการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่และเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ พบผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ hMPV 545 ราย จากจํานวนตัวอย่าง 15,299 ตัวอย่าง พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมา คืออายุ 5 – 9 ปีและอายุ 60 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่มียาต้านจำเพาะในการรักษาหรือวัคซีน แนะนำเน้นการป้องกันตัว” นพ. วีรวัฒน์ กล่าวและว่า ถัดมา โรคไข้หวัดนก พบในคนและสัตว์ทั่วโลกทั้งสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

โดยยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คน แต่ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 – วันที่ 2 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 261 ราย ไม่มีรายงานการติดเชื้อใหม่จากไวรัสไข้หวัดนก A (H5N1) ของแปซิฟิก ทั้งนี้ ที่ประเทศกัมพูชา พบผู้เสียชีวิตรายแรกของปี 2568 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นเพศชาย อายุ 28 ปี จาก จ.กำปงจาม เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังจากสัมผัสและนำไก่ที่ป่วยมาปรุงเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในประเทศไทย เป็นเวลา 18 ปี หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 2549

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีโรคที่ต้องระมัดระวังและติดตามเพิ่มเติม คือ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected tropical disease) คือ โรคที่พบมากในกลุ่มประเทศเขตร้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ซึ่งโรคที่พบในไทย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงโรคพยาธิต่างๆ ประชากร 1 ใน 5 ของโลก ที่ป่วยด้วยโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย

ดังนั้น จึงกำหนดวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (World NTD Day) สมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 74 กำหนดให้วันที่ 30 มกราคมของทุกปี เป็นวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการกวาดล้างโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย

  • Beta

Beta feature

  • Beta

Beta feature

  • Beta

Beta feature

  • Beta

Beta feature

  • Beta

Beta feature