ดร.เจษฎา ย้ำชัด แผ่นดินไหวถี่แถบหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นเพียงรอยเลื่อนใต้ทะเล “ไม่มีแนวโน้มเกิดสึนามิในฝั่งไทย”
“อ.เจษฎ์” ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า

ชัดแล้ว แผ่นดินไหวเกาะนิโคบาร์ ทำให้เกิด สึนามิอันดามัน จริงไหม
“แผ่นดินไหวถี่ๆ ช่วงนี้ โดยเฉพาะที่เกาะนิโคบา ไม่ได้จะทำให้เกิดสึนามิครับ”
มีรายงานข่าวถึง การเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ ที่หมู่เกาะนิโคบา ของอินเดีย ขนาด 4.8 ตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาด 4.7 ทางตอนเหนือของหมู่เกาะสุมาตรา , ขนาด 4.1 ที่เวียดนามและเมียนมา
โดยทางรายการระบุด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะนิโคบา เกิดขึ้นถี่ ขนาด 3.4-4.7 มา กว่า 54 ครั้งแล้ว ซึ่งมีความเห็นจากนักวิชาการว่า อาจจะเป็นผลจากภูเขาไฟใต้น้ำ ที่เกิดการปะทุหรือระเบิดขึ้น จนเกิดแรงสั่นสะเทือน จากแผ่นดินไหวขนาด 4 ขึ้นไป ซึ่งถ้าเกิดภูเขาไฟใต้ทะเล ในแถบอันดามัน ระเบิดขึ้นมาจริงๆ ก็อาจเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สูงกว่าตึก 3 ชั้น หรือไปถึง 7-8 ชั้น เข้ามาสู่จังหวัดชายฝั่งในไทยได้ !?
แต่ๆๆ ไม่ต้องตกใจกลัวกันไปขนาดนั้นครับ .. ทางกรมทรัพยากรธรณี และทางผุ้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหว บอกว่า ที่มีแผ่นดินไหวถี่ๆ แถบหมู่เกาะนิโคบาร์ ช่วงนี้ ไม่ได้เกิดจากภูเขาไฟใต้ทะเล (ซึ่งอยู่คนละจุดกัน ห่างกันมาก) แต่เป็นการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน บนพื้นทะเล
สรุปยืนยันว่า ไม่ทำให้เกิดสึนามิขึ้นในฝั่งทะเลอันดามัน ครับ
อ่านรายละเอียดของข่าว ได้ด้านล่างนี้ครับ
ป.ล. โดยทั่วไปแล้ว แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิได้นั้น จะต้องมีความรุนแรงอย่างน้อยขนาด 6.5-7 ขึ้นไป (พวกขนาด 4-5 นี่ ถือว่าเล็กมาก) ที่ระดับตื้น (คือมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่ความลึกจากผิวดินใต้ทะเล ไม่กี่สิบกิโลเมตร) และต้องเกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นทะเล ในแนวตั้ง (ไม่ใช่ในแนวนอน) จนทำให้เกิดการกระเพื่อมของน้ำทะเล ยกตัวขึ้นมาครับ
——————
(ข่าวกรมทรัพยากรธรณี) กรมทรัพยากรธรณี ยืนยัน ยังไม่เกิดเกิดสึนามิในไทย ฝั่งทะเลอันดามัน หลังเกิดแผ่นดินไหว หมู่เกาะนิโคบาร์ ต่อเนื่อง ห่างพังงา เฉลี่ย 450 กม. ก็ตาม
วันนี้ (3 ก.ค.68) กรมทรัพยากรธรณี สรุปการเกิดแผ่นดินไหว หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ช่วง 24 มิ.ย. – 1 ก.ค 68 รวม94 ครั้ง มีขนาดระหว่าง 3.4–4.9 ดังนี้
#เหตุการณ์กลุ่มแผ่นดินไหว : วันที่ 24 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2568 (ข้อมูล ณ เวลา 13.00 น.) เกิดกลุ่มแผ่นดินไหว (Earthquake swarms) จำนวน 94 ครั้ง ขนาดระหว่าง 3.4–4.9 ในทะเลอันดามัน บริเวณด้านตะวันออกของหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย แผ่นดินไหวมีขนาดเล็ก (Minor) ถึงค่อนข้างเล็ก (Light) และไม่มีแผ่นดินไหวหลักเกิดขึ้น
เป็นลักษณะของกลุ่มแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดพังงา ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 450 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากภูเขาไฟใต้ทะเลประมาณ 100 กิโลเมตร (สัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมบนแผนที่)
#สาเหตุ : กลุ่มแผ่นดินไหวนี้เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสุมาตราในทะเลอันดามัน
#ไม่ทำให้เกิดสึนามิ : เนื่องจากกลุ่มแผ่นดินไหวนี้มีขนาดเล็กถึงค่อนข้างเล็ก ไม่มีรายงานผลกระทบในประเทศไทย และที่สำคัญ เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวระนาบจึงไม่มีการยกตัวของมวลน้ำ ซึ่งไม่ใช่การเลื่อนแบบมุดตัวเหมือนเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547
——————
(ข่าวผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว) นักแผ่นดินไหววิทยาอธิบายสาเหตุแผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์เกิดถี่ เหตุเป็นรอยแยกพื้นทะเล ยืนยันไม่เกิดสึนามิอันดามัน คนละจุดภูเขาไฟใต้ทะเล
สืบเนื่องจากการรายงานข่าวและเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2568 ซึ่งห่างจากพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันราว 450-500 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ
ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา อดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์กับ PSU Broadcast ถึงข้อมูลเบื้องต้นของชุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว
#แผ่นดินไหวถี่ขนาดปานกลาง #ไม่เกิดสึนามิ
ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณและช่วงเวลานี้เรียกว่า ‘Swarm Earthquake’ หรือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างถี่ๆ ขนาด 3-5 ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณรอยแยกของพื้นทะเล (Spreading Floor) ในพื้นที่แผ่นเปลือกโลกที่มีความบาง
กระบวนการที่เกิดขึ้นคือ เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว แมกมาใต้แผ่นเปลือกโลกจะพุ่งขึ้น และเมื่อสัมผัสกับน้ำทะเลที่มีความเย็นจะค่อยๆแข็งตัวและเกิดเป็นสันเขากลางทะเล (Ridge) ในการพุ่งทะลักของแมกมานี้ส่งผลให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ถี่ ในช่วงระยะเวลาสั้น
แผ่นดินไหวลักษณะนี้เกิดย้อนหลังในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เช่น 1 เมษายน 2562, 4 กรกฎาคม 2565, 9 เมษายน 2566, 23 มกราคม 2567 และล่าสุดในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นั่นเอง
ต่อกรณีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์สึนามินั้น ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนตัวในแนวราบ และเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง
ซึ่งการเกิดสึนามินั้นต้องเกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 7 ขึ้นไปและต้องเป็นการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่ง
#แผ่นดินไหวส่งผลภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุ?
บริเวณสุมาตรา-อันดามันมีแนวเทือกภูเขาไฟใต้ทะเล (submarine volcano) ซึ่งกรณีเพจหนึ่งกล่าวว่า หากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด สามารถทำให้เกิดสึนามิได้ และเป็นสึนามิที่สูงกว่าที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 นั้น นั้น
ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า เนื่องจากเนื่องจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้ทะเล (ละติจูด 8 องศา) ซึ่งไม่เกิดการปะทุและสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดการปะทุนั้นอยู่กันคนละพื้นที่เกิดแผ่นดินไหว Swarm Earthquake ในครั้งนี้ (ละติจูด 9.3-9.4 องศา)
#การตรวจติดตามการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล
นักแผ่นดินไหววิทยากล่าวว่าการตรวจติดตามการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลนั้นสามารถทำด้วยเครื่องมือ 2 ชนิด ได้แก่
1. การวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่ติดตั้งบนพื้นทะเล (ocean-bottom seismometer) ซึ่งมีใช้งานในประเทศ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา
2. Hydrophone – เพื่อตรวจวัด infrasound หรือ เสียงที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน เนื่องจากมีความถี่ต่ำ หากจะติดตามการปะทุของภูเขาไฟในทะเล ต้องนำหัววัดเหล่านี้อยู่ใกล้กับแนวภูเขาไฟ หรือ หากติดตั้งในพื้นที่ชายฝั่งอาจตรวจวัดได้หากการปะทุส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 4-5
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีสถานีตรวจวัด infrasound
Beta feature
Beta feature
Beta feature