สถานการณ์ “พายุไต้ฝุ่นยางิ” (YAGI) ล่าสุดวันที่ 6 ก.ย. 2567 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ได้โพสต์ข้อความถึงความรุนแรง “พายุไต้ฝุ่นยางิ” โดยระบุว่า “ไต้ฝุ่นยางิเพิ่มความแรงเป็นระดับ 5 ภาพนี้เห็น Eye of a storm ชัดเจน จึงอยากเล่าสั้นๆ ให้เพื่อนธรณ์ฟัง
ตรงกลางพายุหมุนจะมี eye หรือจุดศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นไต้ฝุ่น เฮอริเคน หรือไซโคลน (พายุหมุนเหมือนกัน ต่างสถานที่ต่างชื่อ) eye จะเป็นจุดที่ลมสงบที่สุดในพายุ ล้อมกรอบด้วย eye wall กำแพงเมฆลม ตรงนั้นคือเขตที่ลมแรงสุดในพายุ ผมเคยไปสัมภาษณ์พี่ป้าน้าอาที่โดนพายุเกย์ที่ปะทิว บางคนพูดถึงช่วงเงียบสงัดท่ามกลางพายุ บางคนออกมาดู จากนั้นคือความเสี่ยงสุดๆ สำหรับคนที่ออกมาข้างนอก กลับไม่ทัน
ขนาด eye จะขึ้นกับพายุ ตั้งแต่ 30-60 กม. หากพายุเคลื่อนที่ช้า เราก็จะมีช่วงเวลาอยู่ใน eye นานหน่อย รูปร่าง eye ยังขึ้นกับพายุเช่นกัน พายุหมุนแบบเบาๆ บางทีมีเมฆบังจนไม่เห็น eye ด้วยซ้ำ หรือเห็นก็บิดเบี้ยว eye ของยางิ กลมดิก เห็นชัดปรุโปร่ง ยังดูแล้วใหญ่ (เทียบกับฮ่องกง) พอบอกได้ว่าพายุลูกนี้แรงแน่
หากพายุขึ้นแผ่นดิน ตอนเราอยู่ใน eye อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่ในทะเล นั่นคือช่วงอันตรายสุด ปรกติเวลาเรือเจอพายุ จะแล่นฝ่าคลื่นที่ตามลมมาทางเดียว แต่เมื่อไหร่ที่เข้า eye แม้ฟ้าจะสว่าง ลมจะนิ่ง แต่คลื่นไม่นิ่งตามลม เพราะคลื่นมาจากลมรอบๆ
ปัญหาคือลมรอบ eye มีหลายทิศ คลื่นจึงมาทุกทิศทาง อาจเกิดคลื่นยักษ์ rogue wave eye ในทะเลจึงเป็นจุดที่คลื่นแรงสุด ผู้กำกับหนังที่เป็นเพื่อนธรณ์ต้องระวังไว้ ไม่ใช่พระเอกนางเอกติดในเรือสู้พายุกลางทะเล จากนั้นฟ้าใสคลื่นนิ่ง ฟ้าใสได้ แต่คลื่นห้ามนิ่ง คลื่นต้องยักษ์ใหญ่ บางทีอาจสูงถึง 40 เมตร (วัดจากเฮอริเคน cat4 เบากว่ายางิในตอนนี้)
ก็ได้แต่หวังว่าพี่น้องชาวจีนที่ไห่หนานคงปลอดภัย (พายุเข้าพรุ่งนี้) ฮ่องกงคงไม่เป็นไร ที่ต้องส่งใจไปช่วยคือเพื่อนๆ ชาวเวียดนาม โดยเฉพาะแถวชายฝั่งฮาลองเบย์ ต่อจากนั้นจะมีฝนที่เหนือ/อีสานตอนบน ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มาก และพวกเราคงเตรียมพร้อมโลกยิ่งร้อน ทะเลยิ่งร้อน พายุนับจากนี้ต่อไปอีกนานหลายสิบปี จะมีแต่แรงขึ้นและแรงขึ้น
ช่วยลดโลกร้อนให้มากที่สุดในวันนี้ แม้จะหยุดพายุนรกไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ชะลอไปได้บ้าง ก็ได้แต่ฝากไว้ ช่วยกันครับ รักษาธรรมชาติที่เป็นเกราะป้องกันเราให้มากที่สุด ยามที่นรกมาจากบนฟ้า ป่าย่อมดีกว่าเขาหัวโล้น ต้นไม้ย่อมดีกว่าพื้นดินที่แห้งผาก นี่คือสัจธรรม”
ขณะที่ทางด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือน “พายุยางิ” ฉบับที่ 11 โดยระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (6 ก.ย. 67) พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออก ของเกาะไหหลำ ประมาณ 170 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 19.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางประมาณ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 7 ก.ย. 67 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 2567
อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 ก.ย. 2567 นี้ไว้ด้วย