แพทย์ เผย มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ คร่าชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ พบได้น้อยมาก 0.1 ต่อล้านคน

แพทย์ เผย “มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ” คร่าชีวิต อ๋อม อรรคพันธ์ พระเอกชื่อดัง พบได้น้อยมาก 0.1 ต่อล้านคน ชี้ไม่มีสาเหตุแน่ชัด การพยากรณ์โรคทำได้ยากเมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งสำหรับการสูญเสีย ‘อ๋อม’ อรรคพันธ์ นะมาตร์ พระเอกชื่อดัง ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจจากสถิติทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่มีโอกาสพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย มีอัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 0.1 ต่อประชากร 1 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 5-7 คนต่อปี มะเร็งหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด (Angiosarcoma) ส่วนที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจเรียกว่า Rhabdomyosarcoma ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด

“อย่างไรก็ตามมีข้อมูลแสดงความเชื่อมโยงว่า อาจสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการของโรคโดยทั่วไปมักจะไม่มีอาการเฉพาะ แต่อาจมีลักษณอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจร่วมกับอาการของโรคมะเร็ง โดยเป็นอาการเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไอมีเสมหะมักเป็นเสมหะสีขาว บวมรอบตา ขาและเท้าบวม เป็นต้น” พญ.อัมพร กล่าว

ด้าน ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โดยทั่วไปการตรวจวินิจฉัยโรคมักเจอในระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มซักประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจฟังเสียงเต้นของหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเอคโคหัวใจ ตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และ/หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI)

ตลอดจนการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ในด้านการรักษามะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ พบว่ามักไม่ค่อยตอบสนองต่อการฉายแสงและการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จึงต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อเอาก้อนมะเร็งออกด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจโดยตรง

“นอกจากนี้ การพยากรณ์โรคมักจะไม่ค่อยดี โดยผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง การลุกลามของโรค การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด ตลอดจนการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด เป็นต้นจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจพบได้น้อยมากในประชากรทั่วโลก และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด ส่งผลให้ไม่มีข้อมูลด้านการป้องกัน และการตรวจคัดกรองโรค ดังนั้น จึงแนะนำให้สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากพบความผิดปกติเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุควรรีบปรึกษาแพทย์” ร.อ.นพ.สมชาย กล่าว