“ฉันจบปริญญาเอกตั้งแต่ปี 2563 และก็ยังไม่สามารถหางานเพื่อเลี้ยงชีพได้” เอ. ราสเบอร์รี่ เผย พร้อมเล่าว่า หลังเรียนจบปริญญาเอก เธอได้ยื่นสมัครงานในตำแหน่งบริหารจัดการธุรกิจกับบริษัทต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถหางานได้เลย แม้จะยอมขยายขอบเขตการหางานไปยังตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรมนุษย์ บัญชี หรือแม้แต่งานติวเตอร์ แต่เธอก็ไร้โชค
การหางานเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเธอ เธอแทบไม่ถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ หรือต่อให้ได้เข้าสัมภาษณ์งาน ก็ยังถูกปฏิเสธ เธอเฝ้าแต่หาคำตอบว่าตัวเองทำพลาดไปตรงไหน แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของเธอก็คือ “การขาดประสบการณ์ในการทำงาน”
แม้ว่าตอนที่เธอเรียนอยู่ จะพอมีประสบการณ์ทำงานในบางตำแหน่งที่ธนาคาร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และการบัญชี แต่เธอคิดว่าประสบการณ์เหล่านั้นอาจดูไม่เพียงพอในสายตานายจ้าง
“ฉันมีคุณสมบัติมากเกินไปสำหรับตำแหน่งเริ่มต้นส่วนใหญ่ แต่ยังมีคุณสมบัติไม่พอสำหรับตำแหน่งบริหารหรือผู้นำ ท้ายที่สุดแล้วปริญญาของฉันเป็นทั้งคำอวยพรและคำสาป”
หญิงสาวยอมรับว่า เป้าหมายดั้งเดิมของเธอคือการคว้าตำแหน่งศาสตราจารย์ ทำงานในแวดวงการศึกษา แต่เมื่อได้คุยกับคนในวงการจริงๆ และรับรู้ว่าการเริ่มต้นในสาขานั้นยากแค่ไหน เธอก็ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางมาหางานตามบริษัทต่างๆ แทน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายเพื่อที่จะให้มีเงินเลี้ยงปากท้อง เธอจำเป็นต้องไปทำงานพาร์ตไทม์หลายๆ อย่าง รวมถึงหันมาทำงานด้านการพยาบาลแทน
“ฉันคิดว่าการศึกษาคือหนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน แต่ฉันคิดผิด” เอ. ราสเบอร์รี่ ยอมรับ โดยชี้ว่าเธอต้องดิ้นรนทำงานต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ และเพื่อให้มีเงินพอสำหรับจ่ายค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น ในการอาศัยอยู่ที่รัฐซึ่งมีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับที่ 13 ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เธอได้ให้คำแนะนำแก่คนอื่นๆ ว่า ควรเห็นคุณค่าของปริญญาตรีให้มากขึ้น และใช้มันเพื่อหางานก็เพียงพอแล้ว ซึ่งหากเธอได้เรียนรู้เรื่องที่องค์กรส่วนมากต้องการประสบการณ์มากกว่าการศึกษาตั้งแต่แรก ก็คงไม่ต้องเสียเวลาหลายปีในมหาวิทยาลัย
ในขณะที่คนจากรุ่มมิลเลเนียนหลายคน จบลงด้วยการมีคุณสมบัติเกินตำแหน่งที่ต้องการสมัคร แต่ค่านิยมในกลุ่มคนเจน Z กลับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีคนเจน Z จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เลือกจะไม่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และหันไปหาความรู้ตามสถาบันอาชีพต่างๆ แทน โดยหวังจะได้รับงานที่มีค่าจ้างสูงขึ้น และไม่ต้องจมกับภาระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาช่วงเวลาหลายปีแล้วที่ชาวอเมริกันสูญเสียความเชื่อมั่นในคุณค่าของปริญญา โดยหลายคนมองว่า พวกเขาไม่แน่ใจว่าค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่คุ้มแล้วหรือไม่