“พายุไต้ฝุ่นยางิ” ล่าสุด อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ “พายุไต้ฝุ่น ยางิ กำลังจะลดระดับเป็นพายุโซนร้อนครับ .. แต่ยังไง ก็ต้องระวังผลกระทบด้วย”
มีคำถามหลังไมค์มา เกี่ยวกับ “พายุ ยางิ” ที่กำลังเป็นข่าว ว่าเป็นพายุลูกใหญ่ และรุนแรงมากระดับ “ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น” กลัวกันว่าจะเข้ามาประเทศไทยเรา และจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงเหมือนพายุเกย์ในอดีต
จริงๆ แล้ว แม้ว่าตอนนี้ พายุยางิ จะมีกำลังแรงมาก มีความเร็วลมสูงมาก ถึงขนาดเป็นระดับซุปเปอร์ไต้ฝุ่นจริงๆ ในระหว่างที่อยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้ หลังจากออกจากประเทศฟิลิปปินส์ และมุ่งหน้าไปทางเกาะไหหลำของประเทศจีน
แต่จากการติดตามและพยากรณ์เส้นทางของพายุ (ดูรูปประกอบ) จะพบว่ามันกำลังจะขึ้นฝั่งประเทศจีนและเวียดนามในช่วงวันเสาร์อาทิตย์นี้ และจะลดกำลังลงเป็นระดับลงมาเป็นพายุโซนร้อน พายุดีเพรชชั่น ในสัปดาห์ โดยไม่ได้มีเส้นทางตรงเข้ามายังประเทศไทยของเราครับ
อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะต้องเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา กับ “หางๆ ” ของพายุ ที่จะส่งผลต่อประเทศไทยเราได้นะครับ
ส่วนฝนที่ตกหนักกันอยู่ในขณะนี้ ก็อย่าไปแปลกใจมากครับ มันยังเป็นแค่ “ฝนตามฤดูกาล” ตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แค่นั้นเอง (ยังไม่เริ่มปรากฏการณ์ ลานีญา ด้วยนะ)
ดูคำเตือนล่าสุดจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตามประกาศเรื่องพายุ “ยางิ” ฉบับที่ 8 ดังนี้
– เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (5 ก.ย.) พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ ประมาณ 580 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 19.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
– พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 6-7 ก.ย. 67
– หลังจากนั้น จะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
– ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67
– มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
– ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
– ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
– คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
– ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็ก บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 ก.ย. 67 นี้
– ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.